การเลือกปั๊มน้ำที่เหมาะสมกับบ้าน ขั้นตอนที่จะช่วยคุณ

น้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อทั้งการบริโภคและการอุปโภคในครัวเรือน. การเผชิญกับปัญหาน้ำที่ไม่ไหล, น้ำที่ไหลช้า, หรือการหยุดไหลไปเสียดื้อในขณะที่สมาชิกในบ้านใช้น้ำที่จุดอื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาหลายประการ. ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการติดตั้ง “ปั๊มน้ำ” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในครัวเรือนทุกหลัง.

สำหรับผู้ที่กำลังมองหาปั๊มน้ำที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับการใช้งาน, เราได้รวบรวมวิธีการเลือกปั๊มน้ำแต่ละประเภทเพื่อให้ได้คำแนะนำ. ในบทความนี้, มีการแนะนำปั๊มน้ำที่มีคุณภาพมาตรฐานจากแบรนด์ชั้นนำ. รวมถึงปั๊มน้ำอัตโนมัติ, ปั๊มหอยโข่ง, ปั๊มซับเมอร์ส, และปั๊มน้ำจุ่มที่มีแรงดันสูง. ทั้งนี้, เครื่องจะแข็งแรงและช่วยประหยัดพลังงาน, มาเป็นแนวทางในการเลือกซื้อให้เหมาะสมกับความต้องการของครอบครัว

วิธีการเลือกปั๊มน้ำ

อย่างที่หลายคนทราบกันดีค่ะว่า ปั๊มน้ำคืออุปกรณ์ที่ส่งผ่านน้ำ ซึ่งเป็นตัวกลางสำคัญในการผลักดันน้ำจากถังเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ ไปยังจุดต่าง ๆ ที่อยู่สูงกว่าหรือไกลออกไป โดยอาศัยแรงดันจากกลไกการทำงานของหัวเรือนปั๊มและมอเตอร์ แต่ปั๊มน้ำแต่ละประเภทจะแตกต่างกันอย่างไร และควรพิจารณาปัจจัยใดบ้าง เราไปอ่านต่อกันเลยค่ะ

เลือกจากประเภทของปั๊มน้ำ

ปัจจุบัน ปั๊มน้ำในบ้านเรามีอยู่หลายประเภทเลยทีเดียวค่ะ ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ที่พักอาศัยหรือแม้กระทั่งเป็นผู้ช่วยเมื่อเกิดวิกฤตภัยพิบัติอย่างอุทกภัยและอัคคีภัย โดยหลัก ๆ เราสามารถเลือกประเภทของปั๊มน้ำให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานได้ ดังนี้

ปั๊มน้ำอัตโนมัติ

ปั๊มน้ำอัตโนมัติ

สำหรับปั๊มประเภทนี้หลายคนน่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เนื่องจากเป็นปั๊มน้ำที่นิยมใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยทั่วไปเราจะใช้ปั๊มน้ำอัตโนมัติคู่กับถังเก็บน้ำหรือแท็งก์น้ำ เพื่อเป็นการกรองเศษตะกอนที่มากับน้ำประปาให้พักที่ก้นถังก่อนที่จะปั๊มน้ำเข้าบ้าน และเพื่อให้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในกรณีที่น้ำประปาไม่ไหลหรือไหลช้า ปั๊มน้ำอัตโนมัติจะเป็นระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติตามจังหวะเปิด-ปิดของก๊อกน้ำ ทำให้ประหยัดพลังงานและไม่ต้องเสียเวลามาคอยเปิด-ปิดด้วยตัวเอง

และอีกหนึ่งจุดเด่นของปั๊มประเภทนี้ก็คือ มีแรงดันน้ำสูง จึงสามารถส่งน้ำไปยังจุดต่าง ๆ ในบ้านได้ดี โดยมีให้เลือกตั้งแต่ 80 วัตต์ไปจนถึงมากกว่า 1,000 วัตต์ แล้วแต่ความต้องการในการใช้งานและขนาดของพื้นที่ โดยปั๊มน้ำอัตโนมัติมีทั้งชนิดถังแรงดัน ชนิดแรงดันคงที่ และระบบอินเวอร์เตอร์

ปั๊มน้ำหอยโข่ง

ปั๊มน้ำหอยโข่ง

ที่มาของชื่อปั๊มน้ำหอยโข่งมาจากลักษณะของตัวเครื่องที่คล้ายขดของหอยโข่งนั่นเองค่ะ โดยหลักการทำงานของปั๊มน้ำประเภทนี้ คือ การใช้แรงหนีศูนย์กลาง (Centrifugal Force) โดยใบพัดจะหมุนแล้วเหวี่ยงส่งน้ำจากปลายใบพัดเข้าสู่ช่องดูดหรือส่วนโพรงหอยโข่งที่ปลายเครื่องก่อนส่งน้ำไปยังจุดที่ต้องการ

ปั๊มน้ำชนิดนี้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคการเกษตร ชลประทานและอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถสูบได้มากกว่าปั๊มน้ำประเภทอื่นในกำลังไฟที่เท่ากัน ทั้งยังใช้ได้กับน้ำสะอาดและน้ำไม่สะอาดโดยที่ไม่ทำให้เครื่องเสียหาย เหมาะสำหรับการใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่จะส่งน้ำได้ไม่สูงมากในแนวดิ่ง และสูบน้ำจากแหล่งต้นกำเนิดที่มีความลึกสูงสุดได้ไม่เกิน 7 – 8 เมตร นอกจากจะใช้งานได้หลากหลายแล้ว ยังราคาไม่แพง ทนแดดทนฝนและซ่อมบำรุงรักษาง่ายอีกด้วยค่ะ

ปั๊มน้ำจุ่มหรือปั๊มแช่

ปั๊มน้ำจุ่มหรือปั๊มแช่

หลายคนอาจจะรู้จักปั๊มจุ่มหรือปั๊มแช่ในอีกชื่อหนึ่ง คือ ปั๊มไดโว่ ซึ่งปั๊มประเภทนี้จะใช้งานโดยการนำเอาตัวปั๊มไปจุ่มหรือแช่ในแหล่งน้ำที่เราต้องการสูบน้ำขึ้นมา เมื่อมอเตอร์ทำหน้าที่ส่งแรงผลัก ใบพัดจะหมุนแล้วดึงน้ำขึ้นมาได้ทันที โดยปั๊มจุ่มจะมีทั้งที่ใช้ได้กับน้ำสะอาด, น้ำเสีย, น้ำโคลนและน้ำทะเล

ดังนั้น จึงสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตรกรรมที่ต้องการสูบน้ำจากบ่อหรือลำธารที่ไม่ลึกมาก, ไซต์งานก่อสร้างที่ต้องการสูบน้ำขัง, งานระบายน้ำท่วม, งานบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม, สูบน้ำดีและน้ำเสียจากบ่อปลาบ่อกุ้ง หรือใช้ทำน้ำพุ เรียกได้ว่าสารพัดประโยชน์เลยล่ะค่ะ อีกทั้งปั๊มแช่หรือปั๊มจุ่มยังมีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบมีลูกลอย ตัวปั๊มจะทำการตัดการทำงานอัตโนมัติ เมื่อดูดน้ำหมดแล้วลูกลอยที่ลอยอยู่จมลงไป ส่วนแบบไม่มีลูกลอย คุณจะต้องเปิด-ปิดสวิตช์ด้วยตัวเอง

ปั๊มน้ำบาดาลหรือปั๊มซับเมอร์ส

ปั๊มน้ำบาดาลหรือปั๊มซับเมอร์ส

หลักการทำงานของปั๊มน้ำบาดาลถือเป็น Submersible Pump เช่นเดียวกันกับปั๊มจุ่มหรือปั๊มแช่ โดยมีวิธีการใช้งานคล้ายคลึงกัน คือ จะหย่อนปั๊มลงไปในบ่อบาดาลเพื่อให้มอเตอร์และใบพัดทำงานสูบน้ำขึ้นมา แต่จะแตกต่างกันตรงที่ปั๊มน้ำบาดาลจะมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกผอมและยาว ตัวเครื่องทำจากสเตนเลสที่มีคุณสมบัติป้องกันสนิมและทนต่อการกัดกร่อนจากค่าความเป็นกรดหรือด่างของน้ำบาดาล

นอกจากนี้ ปั๊มน้ำบาดาลยังสามารถใช้สูบน้ำในบ่อได้ตั้งแต่ระดับลึกกว่า 10 เมตร ไปจนถึงมากกว่า 100 เมตร จึงนิยมใช้ในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำบาดาลตามธรรมชาติหรือพื้นที่ที่น้ำประปายังเข้าไม่ถึง เหมาะกับทั้งภาคการเกษตรและในครัวเรือนเลยค่ะ

เลือกชนิดของปั๊มน้ำให้เหมาะกับที่พักอาศัย

ปั้มสำหรับใช้งานในที่พักอาศัยนั้นส่วนมากจะเป็นปั๊มน้ำอัตโนมัติซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดใหญ่ ๆ ทั้งยังมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไปตามลักษณะการทำงาน ลองเลือกให้เหมาะกับความต้องการและงบประมาณของคุณดูนะคะ

ปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน

ปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน

ปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน (Automatic Water Pump with Pressure Tank) หรือที่เราเรียกว่า ปั๊มน้ำถังกลม ถือเป็นปั๊มน้ำอัตโนมัติรุ่นแรก ๆ ที่ผลิตและได้รับความนิยมค่อนข้างมาก โดยหลักการทำงานของปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน คือ มอเตอร์จะดูดน้ำจากถังเก็บน้ำหรือแท็งก์น้ำเข้ามาเก็บไว้ในถังแรงดันที่อยู่ด้านล่างของตัวเครื่องปั๊มน้ำ จากนั้นเมื่อคุณเปิดใช้น้ำภายในบ้าน น้ำที่ถูกดูดเข้าไปเก็บไว้ก็จะถูกดันออกมาจากแรงดันของน้ำที่เข้าไปแทนที่อากาศ

ข้อดีของปั๊มน้ำชนิดนี้คือ น้ำแรงสะใจ ทนทานและบำรุงรักษาง่าย แต่ข้อเสียหลักคือ แรงดันน้ำไม่คงที่ทำให้จ่ายน้ำไม่สม่ำเสมอ เสียงค่อนข้างดังเวลาเครื่องทำงาน และมีขนาดใหญ่กว่าปั๊มชนิดแรงดันคงที่ค่ะ

ปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดแรงดันคงที่

ปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดแรงดันคงที่

ปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดแรงดันคงที่ (Constant Pressure Water Pump) หรือที่เราเรียกว่า ปั๊มน้ำถังเหลี่ยม หลักการทำงานจะคล้ายปั๊มอัตโนมัติชนิดมีถังแรงดัน แต่แรงดันของปั๊มชนิดนี้จะเกิดจากถังแรงดันที่ประกอบด้วยแผ่นยางไดอะแฟรม และบรรจุก๊าซไนโตรเจน เรียกว่า Nitrogen Tank หรือ Bladder Tank ซึ่งช่วยทำให้มีแรงดันน้ำที่ต่อเนื่องและคงที่กว่า แม้ว่าแรงดันน้ำอาจจะแรงไม่เท่าปั๊มน้ำถังกลม

แต่ข้อดีคือ ถ้าคุณเปิดน้ำใช้พร้อมกันหลายจุด แรงดันน้ำก็จะสม่ำเสมอเท่ากันทุกก๊อก เครื่องทำน้ำอุ่นก็จะมีอุณหภูมิคงที่เช่นกัน อีกทั้งเสียงยังเงียบกว่าขณะทำงาน และมีขนาดเล็กไม่กินพื้นที่ ส่วนข้อเสียคือ หากมีอากาศปะปนกับน้ำเข้ามามากเครื่องจะร้อนเพราะต้องทำงานหนัก ค่าบำรุงรักษาแพงกว่าและต้องติดตั้งในร่มค่ะ

ปั๊มน้ำอัตโนมัติอินเวอร์เตอร์

ปั๊มน้ำอัตโนมัติอินเวอร์เตอร์

ปั๊มน้ำอัตโนมัติอินเวอร์เตอร์ (Inverter Pump) เป็นน้ำปั๊มที่ได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยปั๊มน้ำชนิดนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากปั๊มน้ำอัตโนมัติแรงดันคงที่ ดังนั้น หากดูภายนอกหน้าตาอาจจะคล้ายคลึงกัน แต่ข้อดีคือ เทคโนโลยีระบบ Inverter จะช่วยให้คุณประหยัดพลังงานไฟฟ้าและขณะทำงานจะเงียบไร้เสียงรบกวน แต่ในขณะเดียวกันแรงดันของน้ำก็ยังแรง และคงที่เมื่อใช้พร้อมกันหลายจุด

จุดที่พิเศษไปกว่านั้นของปั๊มน้ำชนิดนี้ คือ มีจอแสดงผลการทำงานที่สามารถปรับตั้งค่าต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ส่วนข้อเสียที่อาจทำให้คุณลังเล คือ ราคาแพงกว่าปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดันและแรงดันคงที่ แถมยังการบำรุงรักษายากกว่าหากว่ามีการชำรุดเสียหาย เนื่องจากความซับซ้อนของระบบนั่นเอง

เลือกกำลังวัตต์ของปั๊มน้ำให้เหมาะกับความต้องการใช้งาน

นอกจากจะดูความเหมาะสมของชนิดปั๊มน้ำแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คุณต้องคำนึงก่อนตัดสินใจเลือกปั๊มน้ำ คือ ขนาดของมอเตอร์ปั๊มน้ำหรือกำลังวัตต์ โดยควรพิจารณาตามปัจจัยดังต่อไปนี้

จำนวนชั้นหรือความสูงของบ้านและจำนวนผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน

จำนวนชั้นหรือความสูงของบ้านและจำนวนผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน

สิ่งจำเป็นที่ต้องใช้เพื่อคำนวณหาระยะในการส่งน้ำก็คือ จำนวนชั้นหรือความสูงของบ้าน นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น บ้าน 2 ชั้น ความสูงประมาณชั้นละ 3.5 เมตร ระยะส่งจะเท่ากับ 7 เมตร คุณจึงต้องเลือกปั๊มน้ำที่มีระยะส่งน้ำเพียงพอ นอกจากนี้ จำนวนชั้นยังเกี่ยวพันกับกำลังมอเตอร์อีกด้วย ตัวอย่างการคำนวณคร่าว ๆ เช่น บ้านชั้นเดียวควรใช้ปั๊มน้ำขนาด 150 วัตต์ บ้านสองชั้นควรใช้ปั๊มน้ำขนาด 250 วัตต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ จำนวนผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน ก็สำคัญเช่นกัน เนื่องจากยิ่งมีสมาชิกในครอบครัวจำนวนมาก ก็ยิ่งมีความต้องการในการใช้น้ำปริมาณมากในเวลาเดียวกัน การเลือกเครื่องปั๊มน้ำจะดูเพียงแค่ขนาดพื้นที่หรือจำนวนชั้นของบ้านไม่ได้ ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเลือกขนาดของปั๊มน้ำ คุณควรคำนึงถึงจำนวนคนเพื่อความเหมาะสมด้วยค่ะ

จำนวนจุดที่มีโอกาสจะใช้น้ำพร้อมกัน

จำนวนจุดที่มีโอกาสจะใช้น้ำพร้อมกัน

จำนวนจุดที่มีโอกาสจะใช้น้ำพร้อมกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน คุณและสมาชิกในครอบครัวอาจจะต้องการใช้น้ำหลายจุดพร้อมกัน เช่น อาบน้ำ, ซักผ้า, ล้างจาน, ทำสวน เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมีการคำนวณว่าจุดที่ใช้น้ำพร้อมกันบ่อย ๆ มีปริมาณกี่ลิตร/นาที

โดยปกติแล้วก๊อกน้ำจะมีอัตราการจ่ายน้ำประมาณ 9 ลิตร/นาที ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์แต่ละชนิด ถ้าใช้พร้อมกัน 3 จุด ปริมาณการจ่ายน้ำขั้นต่ำเวลาเดียวกันของปั๊มน้ำต้องไม่ต่ำกว่า 9 x 3 = 27 ลิตร/นาที ดังนั้น การเลือกขนาดของปั๊มน้ำก็ต้องดูเรื่องปริมาณน้ำต่อนาทีประกอบด้วยค่ะ

By tum